หลังจากได้อ่านเรื่องการสูญเสียของ “ลัคกี้” สุนัขที่เสียชีวิตจากฮีทสโตรก เราก็หาข้อมูลโรคฮีทสโตรกที่เกิดกับแมว PetMD อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้ดี จึงอยากแปลบางส่วนมาฝากทุกคน เพราะในความร้อนระดับนี้ ไม่ว่าจะหมา แมว หรือแม้แต่คน ก็ล้วนเสี่ยงต่อโรคนี้ไม่แพ้กัน
แมว เป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้ทนร้อนเก่งกว่าคนสักเท่าไหร่ แมวจะมีเหงื่อออกบริเวณอุ้งเท้า เพื่อคลายความร้อนเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แมวจะตัวร้อนเกินจนเป็นฮีทสโตรกในที่สุด สาเหตุหลักๆ คือการอยู่ในสถานที่ หรือสิ่งแวดล้อมที่ร้อนเกินไป โดยไม่มีที่ร่มให้หลบพักร้อน หรือไม่มีน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่จะพาให้แมวมีอาการฮีทสโตรกได้ และถ้าร่างกายไม่ได้รับการคลายความร้อนอย่างทันท่วงที อวัยวะภายในจะถูกทำลาย และแมวจะเสียชีวิตในที่สุด

สัญญาณที่บอกให้รู้ว่าแมวตัวร้อนเกิน Heat Exhaustion
- แมวจะกระสับกระส่าย เพื่อหาที่เย็นๆ เข้าไปอยู่เพื่อคลายความร้อนในตัว
- หายใจเร็ว อุ้งเท้ามีเหงื่อออก น้ำลายไหล เลียตัวอย่างหนักเพื่อลดความร้อนในร่างกาย
- ถ้าวัดอุณหภูมิทางก้น จะยังปกติหรือค่อนข้างสูงเล็กน้อย
สัญญาณที่บอกว่าอุณหภูมิร่างกายแมวเริ่มสูงจนถึงขั้นเป็นอันตราย
- ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว
- ลิ้นและปากแดงจัด
- อาเจียน
- อ่อนแรง
- เดินโซเซ ทรงตัวไม่ค่อยไหว
- วัดอุณหภูมิทางก้น จะสูงกว่า 105 องศาฟาเรนไฮด์ หรือประมาณ 40.5 องศาเซลเซียส
ถ้าร่างกายอุณหภูมิสูงขนาดนี้ ก็เพียงพอที่จะทำให้แมวป่วยหนักถึงขั้นโคม่า แปลงฟาเรนไฮด์เป็นเซลเซียส
การดูแลแมว
- ถ้าแมวหมดสติในอากาศร้อน ให้ปฐมพยาบาลโดยใช้น้ำลูบตัวแมว (น้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ควรใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็ง) โดยต้องระวังน้ำไม่ให้เข้าปากหรือจมูกแมว
- นำถุงน้ำแข็ง หรือผักแช่เย็น มาวางระหว่างขาทั้งสองข้างของแมว แล้วจึงรีบพาแมวไปหาหมอ
- แต่ถ้าแมวยังมีสติ แต่เริ่มแสดงอาการร้อนแบบ Heat Exhaustion ให้รีบพาแมวไปอยู่ในที่เย็นๆ ใช้น้ำลูบตัว และให้แมวดื่มน้ำ แล้วพาไปหาหมอทันที
- ถ้าแมวเริ่มร้อนจนเริ่มแสดงออกว่าเครียด ให้รีบพาไปอยู่ในที่เย็นและเงียบ แล้วให้ดื่มน้ำ
- หากมีปรอทและสามารถวัดอุณหภูมิทางก้นได้ ให้ลองวัดอุณหภูมิแมว
100 – 103 องศาฟาเรนไฮด์ | 37.7 – 39.4 องศาเซลเซียส จัดว่าเป็นอุณหภูมิปกติ ถึง ค่อนข้างสูง
103 – 104 องศาฟาเรนไฮด์ | 39.4 – 40 องศาเซลเซียส จัดว่าอุณหภูมิสูง ต้องประเมินการรักษาโดยหมอ
มากกว่า 105 องศาฟาเรนไฮด์ | มากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส จัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องรีบรักษาทันที
พาไปหาหมอให้เร็ว ช่วยได้
เพราะนอกจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการเอาน้ำลูบตัวแมว หรือการใช้ถุงน้ำแข็งวางที่ระหว่างขาแมว หมอจะฉีดของเหลวเข้าเส้นเลือดโดยตรง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายแมวแล้ว ยังช่วยให้แมวพ้นจากภาวะช็อค และลดความเสี่ยงที่อวัยวะภายในจะถูกทำลาย ซึ่งเป็นผลมาจากการตัวร้อนมากๆ โดยหมอจะประเมินอาการจนอุณหภูมิเป็นปกติ แล้วจึงตรวจดูว่าแมวมีสัญญาณบอกว่าอวัยวะภายในได้รับความเสียหายหรือไม่ (เตือนหมอให้วัดความดันประกอบแมวด้วย)

ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้แมวอุณหภูมิสูงขึ้น Hyperthermia
หากแมวมีความเครียดหรือความกังวลอย่างหนัก ก็อาจทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นได้ หรือแมวพันธุ์หน้าสั้น ขนยาว อาทิ เปอร์เซีย หรือแมวที่อ้วนเกินไป ร่างกายจะทนต่อความร้อนได้น้อยกว่า จึงง่ายที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะตัวร้อนเกิน Hyperthermia และเป็นฮีทสโตรกในที่สุด
อากาศร้อนแบบนี้ ถ้าใครเลี้ยงแมวพันธุ์ขนยาว ขนแน่น น่าจะต้องดูแลกันพิเศษ ลองนึกถึงตัวเราสิ ร้อนขนาดนี้ แล้วต้องใส่เสื้อขนวูแบบถอดไม่ได้ เราจะเป็นอย่างไร เราคงหาที่เย็นๆ ฝังตัวทั้งวัน และคอยจิบน้ำตลอดเวลา นั่นแหละ แมวก็ต้องการแบบนั้นเช่นกัน
ช่วงพักฟื้น
เมื่อแมวได้รับการรักษาจนอยู่ในภาวะอุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ โดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ แล้ว เรายังต้องเฝ้าดูอาการต่อ เพราะอวัยวะที่เสียหายอาจแสดงผลหลังจากนั้น ถ้าแมวยังมีอาการไม่ปกติ หลังจากผ่านไป 2-3 วัน ให้พากลับไปหาหมอ เพื่อความแน่ใจว่าแมวปลอดภัยแล้วจริงๆ

ป้องการแมวจากฮีทสโตรก
ต้องแน่ใจว่าแมวมีที่ร่มให้หลบแดด และมีน้ำวางไว้ให้อย่างเพียงพอ อย่าทิ้งให้แมวอยู่ในรถโดยเราไม่ได้อยู่ด้วย หรือ ขังแมวไว้ในที่ๆ แมวไม่สามารถหนีไปหลบความร้อนจากแสงแดดได้ ทางที่ดีในวันที่อากาศร้อน แดดแรง ให้แมวอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีน้ำวางไว้ให้ตลอด น่าจะดีที่สุด
Cat club ขอขอบคุณบทความดีๆ ที่ให้ความรู้เรื่องฮีทสโตรกในแมวจาก PetMD
1 Pingback